ABOUT TAGE

ประวัติสมาคม
สมาคมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทย

ชมรมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทย (Endoscopy club) ชมรมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทย (Endoscopy club) ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี ในปีพ.ศ. 2544 เนื่องจากในช่วงเวลานั้นยังมีแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารจำนวนน้อย จึงได้มีการรวมกลุ่มของแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารที่ตั้งใจเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการให้แก่แพทย์ทั่วไปและบุคคลากรทางการแพทย์ที่สนใจด้านการส่องกล้อง โดยกลุ่มแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารที่เป็นแรงขับเคลื่อนของชมรมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทยในขณะนั้น ได้แก่ นพ.พินิจ กุลละวณิชย์, นพ.สุรพล ชื่นรัตนกุล, นพ.สุกิจ พันธ์พิมานมาศ, นพ.ไพโรจน์ เหลืองโรจนกุล, นพ.ทวี รัตนชูเอก, นพ.อุดม คชินทร, นพ. ยุทธนา ศตวรรษธำรง และ นพ. รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หลังจากนั้นชมรมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทย ได้จัด workshop สอนการส่องกล้องทางเดินอาหารอย่างต่อเนื่องและได้เริ่มจัดงาน Endoscopy Live Demonstration ครั้งแรก ในปีพ.ศ. 2547 ทำให้ชมรมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทยเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและสากล

ในวันที่ 15 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 ชมรมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทยได้จดทะเบียนเป็นสมาคมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทย (Thai Association for Gastrointestinal Endoscopy หรือ TAGE) โดยเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารฝ่ายอายุรกรรมและฝ่ายศัลยกรรม ซึ่งอดีตนายกสมาคมฯ รุ่นบุกเบิก (นพ. สุรพล ชื่นรัตนกุล, นพ. สุกิจ พันธ์พิมานมาศ, นพ. บัญชา โอวาทฬารพร, นพ. ทวี รัตนชูเอก, นพ. รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร และนพ. ธวัชชัย อัครวิพุธ) ได้ช่วยผลักดันมาโดยตลอด ทำให้เกิดความเชื่อมโยงและการพัฒนาในการทำงานด้านการส่องกล้องแบบสหสาขา และสมาคมฯ ได้จัดงาน Annual Live Endoscopy Meeting ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการประจำปี ที่สอนแสดงการปฏิบัติการส่องกล้องทางเดินอาหารทั้งในขั้นพื้นฐานและขั้นซับซ้อน โดยมีแพทย์ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศทั่วโลกร่วมการประชุมทุกปี

นอกจากนี้สมาคมฯได้จัด workshop เพื่อสอนการส่องกล้องแบบพื้นฐานและแบบซับซ้อน เช่น endoscopic retrograde cholangiopancreatography (ERCP), endoscopic ultrasound (EUS), endoscopic mucosal resection (EMR), endoscopic submucosal dissection (ESD), endoscopic mucosal resection (EMR), peroral endoscopic myotomy (POEM), และ balloon-assisted enteroscopy ให้กับแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย อีกทั้งทางสมาคมฯ ยังได้ส่งตัวแทน และกรรมการ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการส่องกล้อง ไปร่วมสอนเชิงปฏิบัติให้กับแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารในประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น พม่า เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง กรรมการสมาคมฯ หลายท่านได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติทุกปี อีกทั้งอดีตนายกสมาคมฯ นพ. ทวี รัตนชูเอก และ นพ. รังสรรค์ ฤกษ์นิมิต ได้รับเชิญเพื่อไปร่วมสอน live demonstration ในการประชุมทั้งกลุ่มประเทศในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้สมาคมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

ในปี 2559 ทางสมาคมแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารไทยได้เริ่มการจัดทำต้นแบบจำลอง (model) สอนการส่องกล้องอัลตราซาวดน์ในการรักษาโรคถุงน้ำในตับอ่อน (EUS-guided pseudocyst drainage) นำทีมโดย นพ.ทวี รัตนชูเอก, นพ.อรุณ ศิริปุณย์, พญ. กรรณิการ์ เลาหวิจิตร, พญ รัชมน ภิญโญเทพประทาน และ พญ.ธันยพร ฉันทโรจน์ศิริ หลังจากนั้นได้ปรับรูปแบบ model เรื่อยมาเพื่อให้สะดวกต่อการสอน การเคลื่อนย้ายและการเก็บรักษา จนสามารถพัฒนาได้ทั้ง model สำหรับ EUS-guided choledochoduodenostomy, EUS-guided hepaticogastrostomy และ EUS-fine needle aspiration และได้นำมาใช้ทดลองสอนในงาน Annual Live Endoscopy Meeting ในปี พ.ศ. 2561 และยังได้นำไปใช้ในการสอนในงานประชุมส่องกล้องทางเดินอาหารในระดับนานาชาติ ทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารในการฝึกหัดส่องกล้องอัลตราซาวดน์

พันธกิจที่สำคัญของสมาคมฯ ที่นอกเหนือไปจากงานประชุมวิชาการและเผยแพร่ความรู้ก็คือ งานบริการส่องกล้อง ในหลายปีที่ผ่านมา ตัวแทนสมาคมฯ ทั้งฝ่ายแพทย์และพยาบาลได้ร่วมมือกันกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำโครงการส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งในแง่บริการและเป็นการสอนเทคนิคการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ไปพร้อม ๆกันด้วย ทำให้เกิดความแพร่หลายของงานส่องกล้องในหลาย ๆ จังหวัดที่มีความพร้อมอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ ทางสมาคมฯ จึงจัดทำหนังสือเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแนวทางกับแพทย์ทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์ และโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่มีความสมใจและมีความพร้อมในการตั้งศูนย์ส่องกล้องในสถาบันของตน โดยได้รับความร่วมมือจาก นพ. ประเดิมชัย คงคำ นพ. ทยา กิติยากร ศาสตราจารย์ ฉัตรชัย วิริยะไกรกุล และ อาจารย์ กวิน ธนโกเศศ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ มีการจัดทำหนังสือรวบรวมตัวอย่างผู้ป่วยที่น่าสนใจ เป็น Atlas แบบรูปเล่ม และ อิเลคโทรนิค รวมทั้งการเขียนแนวทางการส่องกล้องในเวชปฏิบัติในหลายๆ ภาวะที่สำคัญ และสมาคมฯ โดยมีตัวแทนคือ นพ. ธวัชชัย อัครวิพุธ ได้ทำการรับรอง Siriraj Medical Journal (SMJ) เป็นวารสารทางการของสมาคมฯ ในปี 2560 ต่อมาทางสมาคม ฯ โดยมี พญ. นนทลี เผ่าสวัสดิ์ เป็นตัวแทน ได้ทำ Memorandum of Understanding กับ Korean Society of Gastrointestinal Endoscopy (KSGE) เพื่อร่วมกันพัฒนางานด้านวิชาการ และรับรอง Clinical Endoscopy Journal เป็นวารสารทางการของสมาคมฯ ในปี 2564

ยี่สิบปีที่ผ่านมา สมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารทั้งอายุรกรรมและศัลยกรรม ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ด้วยความร่วมมือจากสหสาขา การสนับสนุนและคำแนะนำจากอาจารย์แพทย์ส่องกล้องทางเดินอาหารตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ทำให้สมาคมฯ เติบโตขึ้นและเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน